สุขภาพของดิน (Soil Health)
หัวใจสำคัญสู่ Green Food and Good Farm
ดินมีความสำคัญต่อมวลมนุษย์และสรรพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกเป็นอย่างมาก เพราะดินคือต้นทางของห่วงโซ่อาหารที่ทำให้เกิดเป็นระบบที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งมวลสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน หากดินเกิดการเสื่อมสภาพ ชีวิตต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในดินและที่อยู่เหนือดินก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพของดินให้ดีอยู่เสมอ
ดินเป็นระบบนิเวศน์วิทยาที่มีความซับซ้อนระบบหนึ่ง เพราะดินเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีบทบาทหน้าที่ต่าง ๆกันไปในการทำให้เกิดการหมุนเวียนของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของดิน ได้แก่ น้ำ อากาศ และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นสารอินทรีย์และอนินทรีย์ จนเกิดเป็นสมดุลที่ทำให้ดินสามารถสนับสนุนการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และการเจริญเติบโตของรากพืช (และต้นพืช) ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน ความสมดุลดังกล่าวนี้เป็นตัวชี้วัดถึงสุขภาพของดิน
โดยทั่วไป การใช้ดินในการเกษตรโดยไม่มีการบำรุงรักษาดินที่ดีพอจะมีผลทำให้สุขภาพของดินเสื่อมลงเนื่องจากการสลายตัวของสารอินทรีย์และการลดลงของแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินไม่สามารถดำรงชีพได้ต่อไป นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีส่วนในการทำให้อุณหูมิของโลกสูงขึ้น
ดังนั้นการรักษาสุขภาพของดินจึงมีความสำคัญทั้งในแง่การรักษาสมดุลธรรมชาติของระบบนิเวศน์ของดินเองซึ่งเป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้สามารถค้ำจุนการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และยังเป็นการป้องกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภิอากาศของโลกอีกด้วย
ลักษณะอาการของพืชที่ขาดธาตุอาหาร
พืชต้องการธาตุอาหารสำหรับการเจริญเติบโตและออกดอกออกผลทั้งหมด 16 ชนิด ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก สังกะสี ทองแดง โมลิบดินัม โบรอน แมงกานีส และคลอรีน โดยมี ธาตุโคบอล ซิลิก้า และ
ในการเจริญเติบโตและการออกดอกออกผล พืชจำเป็นต้องใช้ธาตุอาหารต่าง ๆ เหล่านี้สังเคราะห์หรือสร้างคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) โปรตีน และ เอนไซม์ ชนิดต่าง ๆ ขึ้นมา โดยพืชได้ธาตุคาร์บอน ออกซิเจน จากอากาศ ได้ไฮโดรเจนจากน้ำ และธาตุอื่น ๆ จากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดิน
ดังนั้นโดยทั่วไป ธาตุที่อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ น้ำ (ไฮโดรเจน) และธาตุต่าง ๆ ที่พืชได้มาจากดิน
ธาตุที่พืชได้มาจากดินสามารถแบ่งได้เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมาก (Macronutrients) และธาตุอาหารเสริม (Micronutrients) ซึ่งพืชต้องการเพียงเล็กน้อย
ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมากยังแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ธาตุอาหารหลัก (Major elements) และธาตุอาหารรอง (Minor elements)
เกษตรกรสามารถสังเกตุการขาดธาตุอาหารแต่ละชนิดได้จากอาการบ่งชี้ที่ปรากฎบนใบและส่วนต่าง ๆ บนต้นพืชได้ การขาดธาตุอาหารที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่การขาดธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก สังกะสี และโบรอน ซึ่งพืชจะแสดงอาการ ดังนี้
ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมาก
ไนโตรเจน
• ใบมีสีซีด เหลือง โดยใบแก่แสดงอาการก่อนเมื่อพืชเริ่มขาดธาตุไนโตรเจน และอาการจะลามไปที่ใบอ่อน
• ใบจะมีขนาดเล็กและบางลง
• ใบร่วง
• พืชตระกูลหญ้ามีอาการปรากฏที่ปลายใบของใบล่าง ๆ ก่อน และลามไปที่โคนใบหรือตามเส้นกลางใบและเส้นใบ ก่อนจะลามไปส่วนบนของต้นพืช
• ลำต้นมีขนาดเล็ก กิ่งก้านสั้น ลำต้นที่มีลักษณะอวบน้ำและตามปรกติเป็นสีเขียวอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือน้ำตาล
ฟอสฟอรัส
• ใบ ลำต้น และกิ่งก้านมีสีม่วง
• เจริญเติบโตช้า แคระแกร็น รากและส่วนยอดของลำต้นเล็กและยืดยาว
• ไม่แตกกอ
โพแทสเซียม
• ใบเป็นจุดประ สีน้ำตาล หรือมีจุดสีม่วง หรือมีลายตามเส้นใบ ใบม้วนโดยเริ่มจากใบล่าง
• ใบล่างไหม้ที่ขอบและปลายใบ ส่วนที่ไหม้อาจหลุด ทำให้ใบมีขอบที่ไม่เรียบ
• ใบพืชตระกูลหญ้าเริ่มไหม้จากปลายใบแล้วลามไปด้านโคนใบทางด้านขอบใบ ส่วนกลางใบยังมีสีเขียว
• ใบร่วงก่อนกำหนด
• พืชล้มลุกมีลำต้นล้มก่อนโตเต็มที่ เพราะระบบรากไม่แข็งแรง
แคลเซียม
• ใบอ่อนที่แตกใหม่ไม่ขยายและมีส่วนปลายและส่วนขอบใบตาย
• ใบอ่อนรอบ ๆ ส่วนยอด มีแถบสีเขียวอ่อนหรือซีดจางบริเวณขอบใบ
• ใบย่น หรือใบอ่อนไม่คลี่
• ปลายรากตายและหลุดออก ส่วนปลายรากที่เหลืออยู่ขยายขนาดเป็นปม
แมกนีเซียม
• สีจางลงบริเวณระหว่างเส้นใบ
• ขอบใบเปลี่ยนเป็นสีแดงม่วง
ซัลเฟอร์
• อาการเดียวกับการขาดไนโตรเจน แต่แสดงอาการที่ใบอ่อนก่อน